top of page
  • รูปภาพนักเขียนMonkey Dive Thailand

พามารู้จักเรือ FLEXIBLE LIVEABOARD พร้อมบอกข้อดีและข้อเสีย

หลายๆคนคงรู้จักและคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วหากใครเคยมาดำน้ำกับพี่ลิงที่สิมิลันเพราะส่วนใหญ่เรือ Flexible เหล่านี้นั้นล้วนสะดวกสบายในการเดินทางและใช้ดำน้ำทางฝั่งของอันดามันเหนือ

หลายๆคนที่เพิ่งมาดำน้ำหรือยังไม่เคยใช้บริการเรือ liveaboard ประเภทนี้จะค่อนข้างสับสนกับเรือ liveaboard ที่ตัวเองรู้จัก นั่นก็คือเรือที่ให้บริการสำหรับนักดำน้ำเหล่า Scuba กับทริปที่มักจะใช้ระยะทางในการเดินทางเปลี่ยนจุดดำน้ำแบบไกลๆ ยกตัวอย่างเช่นทริปอันดามันใต้ (เกาะพีพี เกาะห้า หินแดง หินม่วง หลีเป๊ะ) และอันดามันเหนือ (หมู่เกาะสิมิลัน เกาะบอน เกาะตาชัย หมู่เกาะสุรินทร์ กองหินริชิริว) หรือฝั่งอ่าวไทยก็มีเส้นทางชุมพร-เกาะเต่า หรือเรือบางลำก็ออกทริปพิเศษที่เป็น liveaboard ไปดำหลายๆที่ในคราวเดียวหรือบางลำก็ดำอยู่ในละแวกนั้น ซึ่งอันนี้อยู่ที่เรือนั้นจะกำหนดจุดเดินทางเอาเองว่าจะไปที่ไหนบ้าง ซึ่งข้อสังเกตุของเรือ liveaboard เหล่านี้คือ

  1. เรือใหญ่ (ส่วนใหญ่บ้านเราเรียกว่า MV มาจาก Motor Vassel) จะเทียบรอนักดำน้ำอยู่ท่าเรือเวลาขึ้นเรือและมาส่งที่เดิมในวันกลับ

  2. จำนวนผู้โดยสารตั้งแต่วันที่ขึ้นเรือจนถึงวันสุดท้ายที่กลับมักจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง (หากเรือเต็มจะสามารถจุนักดำน้ำ 16-20 คน ไม่รวมลูกเรือ)

  3. มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันและการบริการที่ดีมากๆ จนบางทีดีกว่าโรงแรมซะอีก นั่นก็เพราะว่าทางเรือรู้ล่วงหน้าว่ามีจำนวนนักดำน้ำจะขึ้นเรือมาเท่าไหร่ การเตรียมการจึงง่ายในการดูแล

  4. นักดำน้ำในกลุ่มที่เราไปดำด้วยจะเป็นคนที่มาขึ้นเรือในทริปเดียวกันทั้งนั้น ครูก็จะเป็นคนเดิมที่เราดำมาด้วยตั้งแต่ไดฟ์แรกจนถึงไดฟ์สุดท้าย

อันนี้เป็นเรือ liveaboard ปกติที่ทุกคนล้วนเคยไปใช้บริการ ซึ่งทุกๆลำก็จะมีกฏเกณฑ์คล้ายๆกัน แบบนี้แทบเกือบทั้งหมด

ทีนี้มาสังเกตุเรือแบบ Flexible liveaboard กันบ้างว่ามันต่างยังไงกับเรือ liveaboard ทั่วไป ซึ่งเท่าที่สัมผัสมาในประเทศไทยจะเจอเรือประเภทนี้เฉพาะโซนอันดามันเหนือ และเหตุที่เป็นเฉพาะโซนนี้คิดว่าเนื่องจากเขตอุทยานสิมิลันและสุรินทร์เองนั้นมีจุดดำน้ำจำนวนมาก (นับคร่าวๆก็ประมาณ 20 จุดหรือมากกว่าเพราะจริงๆก็มีบางจุดที่ปิดไม่ให้เข้าชั่วคราว) ทำให้ผู้ประกอบการเดินเรือในจุดที่ใกล้ที่สุดอย่างจ.พังงา บ้านเขาหลักเอง ได้สร้างกระบวนการการเดินทางแบบครอบคลุมนี้ให้สามารถเดินทางไปในทุกๆจุดได้ทุกวันนั่นเอง ซึ่งข้อสังเกตุที่เห็นหลักๆก็คือ

  1. การเดินทางจากท่าเรือจะใช้เรือสปีดโบ๊ทความเร็วสูง (3-4 เครื่องยนต์) ทั้งวันที่ออกเดินทางและวันที่กลับทั้งนี้ก็เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางให้เร็วขึ้นเนื่องจากจากท่าเรือเขาหลักไปสู่สิมิลันระยะทางค่อนข้างไกล (70 กิโลเมตรโดยประมาณหรือประมาณ 1.30 ชม.)และปกติเรือจะจุได้ถึง 20-25 คน ไม่รวมลูกเรือ

  2. ถึงตรงนี้ทุกคนคงสังเกตุได้ว่า เราไม่ได้ไปพร้อมกับเรือใหญ่ที่เราจอง เพราะว่าเรือใหญ่นั้นจะจอดรออยู่ที่จุดดำน้ำใกล้ๆไดฟ์แรกของเราอยู่แล้ว โดยการเดินทางโดยเรือสปีดโบ๊ทมาเรือใหญ่นั้นจะออกแต่เช้าตรู่เพื่อที่จะให้ทันไดฟ์แรกของลูกคนบนเรือสปีด หรือ เป็นไดฟ์ที่สองของวัน ของคนที่นอนอยู่บนเรือใหญ่ก่อนหน้าที่เราจะไปถึง

  3. เราจะไม่สามารถขนสัมภาระเข้าห้องพักบนเรือที่เราจองไว้ได้ทันทีที่ขึ้นไปบนเรือใหญ่เพราะว่าอาจจะต้องรอคนที่นอนอยู่บนเรือก่อนหน้าเราเชคเอาท์ออกไปก่อน ซึ่งจะสามารถเข้าไปในห้องได้คือช่วงเย็นนั่นเอง

  4. สิ่งอำนวยความสะดวกมีแทบทุกอย่างเหมือนเรือ liveaboard ทั่วไป ส่วนความสะดวกสบายนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารในวันนั้นๆ (ซึ่งบางทีทริปนั้นบนเรือมีแค่เรากับครูก็เป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งแอดมินชอบโมเม้นนี้มากๆ เหมือนเหมาลำมาดำน้ำคนเดียว)

  5. เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารขึ้นอยู่แบบวันต่อวัน ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าก่อนเนิ่นๆ เพราะเรือ Flexible liveaboard พวกนี้สามารถรับนักดำน้ำแบบเดย์ทริปหรือไปเช้าเย็นกลับได้ด้วยนั้นเอง (เนื่องจากสปีดโบ๊ทออกเช้าและกลับเย็นในทุกๆวันตลอดทั้งซีซั่น)

  6. พูดง่ายๆก็คือเรือพวกนี้ทำหน้าที่โรงแรมกลางน้ำที่มีเรือสปีดโบ๊ทคอยรับส่งระหว่างฝั่งและตัวเรือซึ่งต่อไปนี้เราจะมาดูข้อดีและข้อเสียของเรือประเภทนี้กัน

มาถึงข้อดีกันก่อน

- แน่นอนว่า การที่เรือใหญ่ไม่ได้กลับเข้าฝั่งเลยเพราะทำหน้าที่เป็นโรงแรมกลางน้ำทำให้การเดินทางไปที่เรือโดยใช้สปีดโบ๊ทสามารถทำได้ทุกวัน ทั้งนี้ตารางเรือจะถูกกำหนดมาเรียบร้อยแล้วว่าในวันนี้และเวลานี้เราจะได้ดำน้ำที่ไหนตั้งแต่ จันทร์ - อาทิตย์ (ดังตัวอย่างด้านล่าง)

และเมื่อเราสามารถเดินทางได้ทุกวัน มันก็ง่ายกับเราที่ไม่จำเป็นต้องหาวันลาให้ตรงกับวันที่เรือออกนั่นเอง เพราะยังไงก็มีทริปให้เราไปดำน้ำได้ตลอด

- อย่างที่แจ้งไปแล้วว่าจำนวนผู้โดยสารของเรือประเภทนี้นั้นจะไม่เต็มทุกวัน ซึ่งหากวันไหนเดินทางคนน้อยและบนเรือใหญ่ยังมีผู้โดยสารน้อยอีก (ซึ่งต่างจากเรือ liveaboard ทั่วไปที่ค่อนข้างจะเต็ม) จะทำให้ทริปดำน้ำของคุณผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นเพราะนอกจากไม่แออัดบนเรือแล้ว การที่มีคนน้อยบนเรือจะยิ่งทำให้คุณถูกดูแลเป็นพิเศษ

- อันนี้อาจจะเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของใครบางคน เพราะการที่เราอยู่นอนเรือจะมีลูกค้าท่านอื่นๆที่เป็นหน้าใหม่แวะเวียนเข้ามาเหมือนโรงแรม เชคอิน เชคเอาท์ ใครที่ชอบเจอผู้คนก็จะเจอแบบมากหน้าหลายตา แต่ใครที่ไม่ชอบสุงสิงกับคนแปลกหน้าอาจจะทำให้คุณอึดอัดได้เช่นกัน

- เราสามารถเลือกจุดดำน้ำที่เราอยากไปได้ แต่ว่าตรงหาวันที่ตรงเท่านั้นนะ เช่นช่วงนี้ที่เกาะบอน มีแมนต้ามาชุมนุมอยู่มาก แต่เรามีเวลาแค่คืนเดียวที่สามารถดำน้ำได้ ซึ่งเรือประเภทนี้จะมีวันที่กำหนดไปเกาะบอนอย่างน้อยๆอาทิตย์ละ 2 วัน (ส่วนใหญ่) ทำให้เรามีโอกาสเจอแมนต้าด้วยรวมทั้งไม่เสียเวลาที่ต้องไปนอนเรือ liveaboard หลายๆวัน


ทีนี้ข้อเสีย

- เนื่องจากต้องเดินทางไปกับเรือสปีดโบ๊ทแต่เช้า (ประมาณ 8.00) ทำให้การเดินทางของคุณอาจจะต้องเผื่อเวลามานอนค้างคืนก่อนไป 1 คืนก่อน แต่ใครจะมาวันเดินทางก็ได้อยู่เหมือนกัน เพียงแต่คุณต้องมาก่อนเรือออกในตอนเช้าก่อนเท่านั้นเอง

- อันนี้จะตรงกันข้ามกับข้อดี ตรงจำนวนผู้โดยสารในแต่ละวันที่คุณอาจจะเจอวันที่คนเดินทางมาเต็มลำทั้งคนที่มาเดย์ทริปและคนที่นอนเรือ ซึ่งอาจจะไม่ใช่สำหรับทุกคนที่ชอบคนเยอะๆในวันที่ต้องดำน้ำหรือหากวันไหนมีคลื่นลมด้วยแล้วละก็ ทำใจไว้ได้เลย

- มีโอกาสที่คุณจะได้ดำโดยการสลับกลุ่มไปมากับคนอื่นๆ ทำให้คุณไม่สามารถคาดเดาได้ว่าคนใหม่ที่มาดำน้ำกับคุณจะประสบการณ์สูงกว่าหรือต่ำกว่า ทั้งนี้ทางเรือพยายามที่จะไม่สลับสมาชิกในกลุ่มหรือไกด์นอกพร่ำเพรื่อ นอกเหนือซะว่ามีความจำเป็นจริงๆเท่านั้น


ขายของหน่อยจ้า

ทุกๆวันที่ 15 ตุลาคม - 15 พฤษภาคมของทุกปีอันดามันเหนือจะเปิดอุทยานให้ดำน้ำอีกครั้งโดยทาง Monkey Dive เองก็มีทริปหลากหลายให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นเรือแบบ Day trip เรือแบบ Liveaboard หรือแบบ Flexible liveaboard หากใครสนใจแบบไหนสามารถสอบถามพี่ลิงได้เลย ที่สำคัญหากคุณมาแบบ liveaboard อย่างน้อย 1 คืน เรามีห้องพักบริการให้คุณก่อนขึ้นเรือและหลังจากทริปฟรีๆด้วย!!


ดู 829 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page